ดูเอเชี่ยนเกมส์-ดูไทย เจ้าภาพกีฬา มี ปัจจัยที่น่าคิด?

837431

เกมการแข่งขันเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 17 ณ เมืองอินชอน ประเทศเกาหลีใต้ กำลังสนุกได้ลุ้นได้เชียร์กันเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ โดยมหกรรมกีฬาแห่งทวีปเอเชีย “เอเชี่ยนเกมส์” หนนี้ จะแข่งขันกันไปจนถึงวันที่ 4 ต.ค. ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นก็จะได้ทราบว่า… ประเทศใดจะเป็นเจ้าเหรียญทอง และไทยจะได้เหรียญรางวัลในการแข่งขันครั้งนี้กลับบ้านมากี่เหรียญ อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความสนุกจากการติดตามการแข่งขัน กับการได้ลุ้นได้เชียร์นักกีฬาในเอเชี่ยนเกมส์หนนี้ ก็ยังมีเรื่องน่าติดตาม มีเรื่องยุ่ง ๆ เกี่ยวกับกรณี ’การเป็นเจ้าภาพ“ เอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 18 ที่จะมีขึ้นในปี 2018 หลังจากเวียดนามประกาศถอนตัว โดยให้เหตุผลในเรื่อง ’ความไม่พร้อม“ ทั้งสภาพเศรษฐกิจ และการขาดประสบการณ์ ซึ่งที่สุดแล้วทางสภาโอลิมปิกแห่งเอเชียหรือโอซีเอก็ตัดสินใจเลือกให้ อินโดนีเซียมารับไม้ต่อ รับบท “เจ้าภาพเฉพาะกิจ” แทนเวียดนาม…

นี่ก็เป็นกรณีน่าสนใจที่เกิดในวงการกีฬา

มีมุมที่น่าคิดไม่น้อย…กับกรณี “เจ้าภาพ”

เมื่อ ย้อนกลับไปดูสถิติของประเทศต่าง ๆ เกี่ยวกับ “การเป็นเจ้าภาพ” ของเอเชี่ยนเกมส์ พบว่า… ประเทศไทย ได้รับบทบาทถูกเลือกให้ทำหน้าที่ “เจ้าภาพ” มากที่สุดในมหกรรมกีฬาแห่งทวีปเอเชียนี้ โดยเคยรับหน้าที่นี้มามากถึง 4 ครั้ง คือปี 1966, 1970, 1978 และ 1998 รองลงมา ได้แก่ ประเทศเกาหลีใต้ 3 ครั้ง คือปี 1986, 2002 และปี 2014 ซึ่งกำลังทำการแข่งขันกันอยู่ ขณะที่ประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น จีน และอินโดนีเซีย เคยเป็นเจ้าภาพกันประเทศละ 2 ครั้ง และประเทศที่เป็นเจ้าภาพ 1 ครั้ง ได้แก่ ฟิลิปปินส์ อิหร่าน และกาตาร์ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ประเทศเหล่านี้ได้รับเลือกให้ทำหน้าที่จัดการแข่งขัน ให้เป็น “เจ้าภาพ” นั้น ส่วนใหญ่ก็จะพิจารณาจาก ’ความพร้อม“ ในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ

ก่อนจะได้สิทธิใช้คำว่า ’ประเทศเจ้าภาพ“

เรื่อง วุ่น ๆ เกี่ยวกับ “เจ้าภาพ” นั้น ไม่ได้มีเฉพาะแต่กับเอเชี่ยนเกมส์ แต่ในแวดวงกีฬา ในมหกรรมกีฬาอื่น ๆ ก็มีปัญหาในเรื่อง “พร้อม-ไม่พร้อม” เช่นกัน ทั้งก่อนจัดและหลังจัดการแข่งขัน อาทิ ฟุตบอลโลก ปี 2014 ประเทศบราซิล ที่ก่อนหน้าจะเริ่มการแข่งขันก็เกิดการประท้วงวุ่นวายจนถึงขั้นเกิดจลาจล หรือในกรณีกรีซ ที่รับเป็นเจ้าภาพจัดงานกีฬาโอลิมปิก ปี 2004 ที่เกิดปัญหาทั้งก่อนหน้าและหลังการแข่งขัน ที่ประสบกับเรื่องวุ่น ๆ มาโดยตลอด จนกลายเป็น “กรณีศึกษา” ให้กับอีกหลายประเทศ ที่ต้องคิดหนักกับการเสนอตัวรับบท “เจ้าภาพ” ที่ระยะหลัง ๆ รู้สึกว่า… ถี่ขึ้น-เกิดบ่อยขึ้น?

เกิดเป็นคำถามว่า… “ทำไม? เพราะอะไร?”

’เรื่อง นี้มันก็มีทั้งมุมบวกมุมลบ เพราะไม่ใช่ว่า…ได้เป็นแล้วจะส่งผลดีได้กับทุกประเทศ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องพิจารณา ซึ่งกรณีการถอนตัวเมื่อรู้ตัวว่ายังไม่พร้อมก็เป็นทางออกหนึ่ง หากมองแล้วว่า… ถ้าทำต่อไปแล้วได้ไม่คุ้มเสีย“ …นี่เป็นการระบุของ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสวิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง เกี่ยวกับเรื่อง “การถอนตัว” จาก “หน้าที่เจ้าภาพ” ที่ไม่เพียงเป็นเรื่องของการกีฬา หากแต่ยังสะท้อนแง่มุมอื่น ๆ ที่น่าคิดด้วย

รศ.ดร.สมชาย กล่าวอีกว่า…การเป็นเจ้าภาพจัดงานใหญ่ ๆ ที่สำคัญระดับโลกนั้น มีทั้งผลดี-ผลเสีย ทั้งนี้ บางประเทศอาจมองว่า… การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานสำคัญ ๆ นั้น เป็น “การวัดเครดิตของประเทศ” วิธีการหนึ่ง บางประเทศจึงพยายามแข่งขัน-พยายามเสนอตัวให้ได้รับเลือกเพื่อทำหน้าที่นี้ โดยมองว่า… จะได้มากกว่าเสีย เนื่องจากคิดว่า… การได้รับเลือกให้จัดงานสำคัญระดับโลกนั้น ถือเป็น “เครื่องมือสำคัญ” ช่วยในเรื่องของ “การพัฒนาหรือฟื้นฟูประเทศ” ทั้งในแง่มุมของ “การกระตุ้นเศรษฐกิจ” ผ่านทางการท่องเที่ยว หรือการลงทุนก่อสร้างสิ่งสาธารณูปโภคต่าง ๆ ให้กับประเทศ นอกจากนี้ยังถือเป็นการ “โฆษณาประชาสัมพันธ์” ให้กับประเทศตนเอง เพื่อให้โลกรู้จัก จึงทำให้บางประเทศ “ทุ่มทุน” เพื่อคว้าสิทธินี้…

แต่ ถ้าไม่พร้อมก็อาจได้ไม่คุ้มเสีย เหมือนเช่นหลาย ๆ กรณีที่เคยเกิดขึ้น โดยเรื่องนี้ รศ.ดร.สมชาย กล่าวว่า… บางประเทศ จัดแล้วมีแต่ปัญหา เช่น ฟุตบอลโลกที่บราซิล ที่รับหน้าที่จัดฟุตบอลโลก ทั้ง ๆ ที่สภาพพื้นฐานทางเศรษฐกิจยังไม่แข็งแรง จนทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ตั้งแต่ก่อนการแข่งขันจะเริ่ม ระหว่างการแข่งขัน รวมถึงภายหลังการแข่งขัน แต่กับบางประเทศ เช่น จีนกับญี่ปุ่น ผลจากการเป็นเจ้าภาพจัดงานรายการสำคัญ ๆ กลับพบว่า… ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ดีขึ้นอย่างมาก

’ต้องพร้อม ซึ่งหากมีความพร้อมในทุกด้านที่ดีอยู่แล้ว ผลจากการรับหน้าที่นี้ ก็จะยิ่งส่งผลทำให้ดีมากขึ้น เหมือนกับจีนหรือญี่ปุ่นที่มีความพร้อม มีศักยภาพพร้อมในทุก ๆ ด้าน ซึ่งพบว่าหลังจากงานผ่านพ้นไป เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศนี้ดีขึ้นมาก ขณะที่บราซิลกับฟุตบอลโลก หรือกรีซกับโอลิมปิก พบว่า… หลังเสร็จสิ้นงานก็มีแต่ปัญหาตามมามากมาย“ …เป็นมุมน่าคิดที่ รศ.ดร.สมชาย ระบุถึง “ผลดี-ผลเสีย” เกี่ยวกับเรื่องนี้

“…มาตรฐาน การเป็นเจ้าภาพเอเชี่ยนเกมส์ก็สูงมาก เพราะจะต้องมีความพร้อมในทุก ๆ ด้าน ซึ่งการจะเป็นเจ้าภาพได้ดีนั้น มีปัจจัยหลักอยู่ 4 ข้อ คือ 1.การเมืองต้องนิ่ง 2.เศรษฐกิจต้องมั่นคงแข็งแรง 3.ต้องมีงบประมาณที่เพียงพอ และ 4.ประชาชนในประเทศต้องมีส่วนร่วมด้วย” …ส่วนนี่เป็นการระบุจากผู้บริหารในวงการกีฬาไทย เกี่ยวกับ “ปัจจัยความพร้อม” ในเรื่องนี้

กรณี “เป็นเจ้าภาพกีฬา” นี้ “มีทั้งบวกและลบ”

มี “ปัจจัย 4” ที่ต้อง “คิดให้หนัก-คิดให้มาก”

กับ ’ไทย“ ในยุคนี้…เรื่องนี้ก็ต้องคิด???.