.สำคัญ. แม้จะไม่สวย .ปลิงดำ. คุณค่ามากกว่าอาหาร

831562

“เห็นตัวเล็ก ๆ แบบนี้ แต่เมื่อได้ทำวิจัย ได้เพาะพันธุ์ และได้เลี้ยงไปเรื่อย ๆ ปรากฏว่าไม่ได้เล็กเหมือนตัวเลย ก็เหมือนสัตว์ ทะเลอื่น ๆ คือมีระยะเปลี่ยนผ่านของชีวิต มีการเจริญเติบโต มีการสืบพันธุ์ จึงต้องมีเรื่องของอาหาร เรื่องน้ำ เข้ามาเกี่ยวข้องมากมาย การเพาะพันธุ์ และการเลี้ยง จึงต้องดูแลเอาใจใส่มากเช่นเดียวกับสัตว์น้ำอื่น ๆ”…นี่เป็นการระบุของ แขวลี วิบูลย์กิจ อาจารย์ประจำสาขาวิทยา ศาสตร์การประมง และทรัพยากรทางน้ำ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ จ.ชุมพร

เป็นการระบุถึง ’ปลิงทะเล-ปลิงดำ“

ที่แม้ไม่สวยงามแต่ก็ ’มีความสำคัญ“

ทั้งนี้ ทาง อ.แขวลี เผยถึงเรื่องนี้ในกิจกรรม “พระจอมเกล้าลาดกระบัง ชุมพร มุ่งสู่เบอร์ 1 ภาคใต้ ด้านเทคโนโลยีเกษตร อาหาร และพลังงานทางเลือก” เมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยแจกแจงที่มาที่ไปของการทำวิจัยเกี่ยวกับ “ปลิงดำ” ไว้อีกว่า…ด้วยความที่ปลิงทะเลชนิดนี้มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีโปรตีนมาก ช่วยด้านพัฒนาการของกล้ามเนื้อ และมีสรรพคุณทางยา ดังนั้น จึง เป็นที่สนใจในการนำไป “บริโภค” โดยเฉพาะในประเทศจีน ซึ่งมีรายงานการวิจัยเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาของปลิงค่อนข้างมาก และผลสุดท้ายคือ…ปลิงชนิดนี้ก็ถูกจับมาก

ในการทำวิจัย ได้นำร่องศึกษาบริเวณชุมชนชายฝั่ง อ.ปะทิว จ.ชุมพร ที่ในอดีตพบปลิงชนิดนี้อาศัยในบริเวณน้ำตื้นตามแนวชายฝั่งจำนวนมาก แต่ปัจจุบัน ลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งในภาพรวม ในระยะ 3 ปีที่ผ่านมา มีรายงานการวิจัยเกี่ยวกับปลิงทะเล ซึ่งส่วนใหญ่กล่าวถึงการลดจำนวนลงในธรรมชาติ ที่เป็นผลมาจากการทำประมงปลิงทะเลมาก จนมีแนวโน้มที่จะเกิดการสูญพันธุ์ในบางชนิด โดยสอดคล้องกับสถานภาพปลิงทะเลในประเทศไทยที่ก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ในขณะที่การพัฒนาการเพาะเลี้ยงปลิงในไทยยังอยู่ระดับทดลองเท่านั้น

’ชาวบ้านใน อ.ปะทิว บอกว่า สมัยก่อนปลิงดำเยอะมาก แค่ลงไปหน้าหาดระดับน้ำสูงแค่เข่าก็เจอแล้ว แต่ตอนนี้มันน้อยลงจนรู้สึกได้…“ ’ในแง่ของชาวบ้านทั่ว ๆ ไป น้อยลงก็คือน้อยลง ก็ไม่ได้รู้สึกอะไร แต่ในแง่ของสิ่งแวดล้อมทางทะเล การลดน้อยถอยลงของปลิงดำมีผลต่อระบบนิเวศไม่น้อย…“

นักวิชาการที่ทำวิจัย ระบุต่อไปว่า…ปลิงทะเล มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ เนื่องจากทำหน้าที่เป็นผู้ย่อยสลาย ช่วยทำให้อินทรีย์วัตถุขนาดใหญ่มีขนาดเล็กลง และเป็นการปลดปล่อยสารอาหารที่มีขนาดเล็กให้กับสัตว์น้ำขนาดเล็ก จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่บริเวณพื้นและในตะกอน และยังขับถ่ายสารออกมาในรูปแอมโมเนีย ที่แพลงก์ตอนพืชสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่ง ทำให้เกิดการหมุนเวียนของสารอาหารในระบบนิเวศ

นอกจากอาหารที่ปลิงกินเข้าไป ซึ่งสามารถย่อยได้ ส่วนที่เหลือก็จะถูกขับออกมาพร้อมตะกอนที่กินเข้าไป และปล่อยสารในรูปแขวน ลอย โมเลกุลที่ละลายน้ำ ซึ่งเป็นประโยชน์กับสัตว์ที่กรองกินอาหารจากน้ำ ดังนั้น การลดปริมาณของปลิงทะเลจะส่งผลเสียต่อระบบนิเวศโดยรวมของชายฝั่งทะเล อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นี่จึงเป็นที่มาของการวิจัยเพาะพันธุ์ปลิงทะเล ’ปลิงดำ“ เพื่อปล่อยสู่ท้องทะเล ซึ่งก็มีความยากลำบากในการทำงาน เริ่มที่การจับปลิงพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์มาผสมพันธุ์กัน ความยากคือไม่สามารถรู้เพศปลิงได้เลย ต้องรอให้แต่ละตัวปล่อยไข่และปล่อยน้ำเชื้อออกมาจึงจะทราบ งานวิจัยจึงทำได้ล่าช้า อีกทั้งยังไม่เคยมีใครศึกษาวัฏจักรชีวิตของมันมาก่อน จึงต้องเริ่มต้นตั้งแต่นับ 1 และเมื่อผสมพันธุ์เพาะพันธุ์ได้ เลี้ยงได้ประมาณ 1 เดือน ความยาวตัวประมาณ 1 ซม. ก็ต้องปล่อยสู่ทะเล เพราะปลิงต้องใช้พื้นที่มากในการดำรงชีวิต หากอยู่กันแออัดเกินไปอาจจะตายได้ โดย ระยะ 2 ปีที่ผ่านมาทีมวิจัยได้ปล่อยปลิงดำอายุ 1 เดือนสู่ทะเลไปแล้วหลายหมื่นตัว

แต่เมื่อถามถึงอัตราการรอด อ.แขวลี ก็คิดไม่ตก…ว่าจะรอดได้เท่าไหร่?? เพราะมีสิ่งที่ลูกปลิงต้องเจอมากกว่าการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม คือการ “ถูกจับไป” ทั้ง ๆ ที่ยังตัวเล็ก ๆ อยู่!!

“ปล่อยที่หน้าหาด อีกไม่กี่วันไปดูปลิงก็ไม่อยู่แล้ว ก่อนหน้าที่เราจะไปปล่อย (เดือน ส.ค.) 2 เดือนก่อน ก็เป็นฤดูที่เขาจับปลิง จับคือจับไปขาย ซึ่งก็กลายเป็นอาหารในที่สุด สิ่งที่เราทำคือ ก็พยายามปล่อยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะหากไม่ทำอะไรเลย นับวันปลิงก็จะสูญพันธุ์หรือสูญหายไปในไม่ช้า”…อ.แขวลี ระบุ และว่า…ในแง่การรณรงค์นั้น ในระดับชาติส่วนตัวคงไม่มีกำลังทำได้ แต่ก็เป็นที่น่าดีใจว่า ขณะนี้มีชาวบ้านในท้องถิ่นเห็นความสำคัญ ให้ความร่วมมือในการรับฝากเลี้ยง ช่วยดูแลให้ เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกจับไปขาย

ทั้งนี้ อ.แขวลี บอกว่ามีแนวคิดจะวิจัยการเลี้ยง ’ปลิงดำ“ ในนากุ้งด้วย อย่างไรก็ตาม กับสิ่งที่คาดหวังมาก คือ…อยากให้มีกฎหมายดูแลปลิงทะเลอย่างจริงจังเช่นเดียวกับสัตว์ทะเลอื่น ๆ เช่น จับปลิงได้เมื่อขนาดเท่าไหร่ เพื่อเป็นการยืดอายุให้ปลิงอยู่ในทะเล มีโอกาสได้สืบพันธุ์ออกลูกออกหลานมาก ๆ โดยนักวิจัยรายนี้ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า… สัตว์ทะเลชนิดนี้ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ ไม่มีพิษภัย แถมยังมีคุณต่อระบบนิเวศ…

’อยากจะเชิญชวนให้เห็นคุณค่าของมัน

มากกว่าที่จะเป็นอาหารของมนุษย์!!!“.